วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การรับช่วงสิทธิ (มาตรา 226, 227, 229)
การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ โดยผลของกฎหมาย จากการชำระหนี้ของผู้มีส่วนได้เสีย (หมายความถึงส่วนได้เสียตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่บัญญัติให้รับช่วงสิทธิ ไม่ใช่ส่วนได้เสียทั่วไป) ไม่ว่าจะเป็นการที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรือเป็นการที่บุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ด้วยทรัพย์ของตนแทนลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี ทำให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิเรียกร้องแทนเจ้าหนี้คนเดิม
ผลของการรับช่วงสิทธิ (มาตรา 226) ผู้รับช่วงสิทธิสามารถใช้สิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้ในนามของตนเอง
สิทธิในมูลหนี้ เช่น สิทธิเรียกเงินต้นและดอกเบี้ย สิทธิเรียกค่าเสียหายและเบี้ยปรับ สิทธิในการเพิกถอนการฉ้อฉล และสิทธิในการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
สิทธิเกี่ยวกับประกัน เช่น จำนำ จำนอง ค้ำประกัน
การรับช่วงสิทธิในกรณีต่างๆ (มาตรา 227, 229)
1. กรณีที่ลูกหนี้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เข้าหนี้ (มาตรา 227)
มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย”
การรับช่วงสิทธิกรณีนี้จะต้องมีหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ และต่อมามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้ โดยการกระทำของบุคคลภายนอก แต่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายนั้นด้วยโดยข้อกฎหมายหรือข้อสัญญา กฎหมายจึงบัญญัติให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียชำระค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่เจ้าหนี้ และเมื่อชำระค่าสินไหมทดแทนเต็มราคาทรัพย์หรือสิทธิแล้วก็จะเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ได้ ส่วนเจ้าหนี้เดิมก็จะหมดสิทธิเรียกร้องไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้ได้รับประโยชน์สองต่อ
ประเด็นสำคัญ กรณีตาม มาตรา 227 นั้น ต้องมีหนี้อยู่ 2 หนี้ด้วยกัน คือ หนี้ที่ 1 เป็นความผูกพันที่มีอยู่ก่อนระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ส่วนหนี้ที่ 2 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อีกคนหนึ่ง (บุคคลภายนอก) หนี้ทั้ง 2 ส่วนต้องมีความสัมพันธ์กัน โดยหนี้ที่ 1 เป็นความผูกพันที่มีอยู่ก่อน ถ้าไม่มีหนี้ที่ 1 ก็จะมีการรับช่วงสิทธิในหนี้ที่ 2 ที่เกิดขึ้นภายหลังไม่ได้
2. กรณีที่มีการชำระหนี้แทนลูกหนี้ตาม มาตรา 229(1)
มาตรา 229(1) “บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่ง ผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตนเพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือสิทธิจำนำ จำนอง”
กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้คนหนึ่งมีเจ้าหนี้ 2 คน (ขึ้นไป) เจ้าหนี้คนหนึ่งมีสิทธิดีกว่าเจ้าหนี้อีกคนหนึ่ง เพราะเขามี บุริมสิทธิ หรือสิทธิจำนำ สิทธิจำนอง เจ้าหนี้คนที่มีสิทธิด้อยกว่า เกรงว่าตนจะไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้ จึงเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้ และรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้คนที่มีสิทธิดีกว่า ซึ่งมีอยู่เหนือลูกหนี้นั้น
3. กรณีรับช่วงสิทธิของลูกหนี้ร่วมตาม มาตรา 229(3)
มาตรา 229(3) “บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น”
กรณีหนี้ หมายถึง กรณีที่บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับลูกหนี้ หรือมีความผูกพันเพื่อลูกหนี้และมีส่วนได้เสียในการชำระหนี้นั้น และเมื่อตนได้เข้าชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้วก็เข้ารับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ ซึ่งกฎหมายได้แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ
1) กรณีที่บุคคลผู้มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ร่วมกับผู้อื่นเข้าทำการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ อันได้แก่ ลูกหนี้ร่วม เป็นต้น
2) กรณีที่บุคคลผู้มีความผูกพันอันจะต้องชำระหนี้เพื่อผู้อื่น เช่น ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนอง ผู้รับประกันวินาศภัย เป็นต้น

การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (มาตรา 233, 236)
            เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ของตนเองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ในส่วนทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ แต่ในส่วนเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกต้องชำระแก่ลูกหนี้นั้น จะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้กับบุคคลภายนอกนั้นไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ในการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในนามของตนเองแทนลูกหนี้ หรือที่เรียกว่าการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั่นเอง
หลักเกณฑ์ของการใช้สิทธิเรียกร้อง
มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของตนเองในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”
จากมาตราดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1) ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องที่ไม่ใช่สิทธิอันเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้ สิทธิเฉพาะตัว เช่น การเพิกถอนการสมรส การฟ้องหย่า ค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น
2) ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน สิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ละเลย (หนี้ระหว่างลูกหนี้และบุคคลภายนอก) จะเกิดก่อนหรือหลังจากการมีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ก็ได้ เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีก่อนหรือหลังก่อหนี้ก็ล้วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งนั้น
3) ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ หมายถึง การทำให้สถานะของลูกหนี้มีสภาพจงลงถึงขนาดไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือมีทรัพย์สินไม่เพียงพอ หรือถ้าเพียงแค่ลูกหนี้จนลงแต่ยังพอมีทรัพย์คงอยู่พอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ได้ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เพราะลูกหนี้ยังมีพอชำระหนี้ได้
บุคคลภายนอกยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ขึ้นต่อสู้ได้
            มาตรา 236 “จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว”
            เหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ เพราะเจ้าหนี้ฟ้องคดีไปในนามของตนเองแทนลูกหนี้ตามสิทธิของลูกหนี้ ดังนั้น บุคคลภายนอก หรือที่มาตรา 236 ใช้คำว่า “จำเลย” จึงสามารถยกข้อต่อสู้ใดๆ ที่ตนมีอยู่ต่อลูกหนี้ขึ้นต่อสู้แก่เจ้าหนี้ได้

การเพิกถอนการฉ้อฉล (มาตรา 237)
            มาตรา 214 ตอนต้น มีหลักว่า “...เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง...” จากหลักมาตรานี้ จะเห็นว่าทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้จะตกเป็นประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ดังนั้น หากลูกหนี้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนไปโดยทุจริตทำให้ทรัพย์สินของตนลดน้อยถอยลง เจ้าหนี้จึงอยู่ในสถานะเสียเปรียบ กฎหมายจึงให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะติดตามเอาทรัพย์นั้นกลับสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้
            นิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล หมายถึง นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำการทุจริตฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือนิติกรรมใดๆ ที่ลูกหนี้ได้ทำลงทั้งที่รู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งเป็นผลให้เจ้าหนี้ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้
หลักเกณฑ์ของการเพิกถอนการฉ้อฉล
            มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงคามจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”
หลักเกณฑ์ของการเพิกถอนการฉ้อฉล มีดังนี้
            1) ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันมีวัตถุประสงค์เป็นสิทธิในทรัพย์สิน (วรรคสอง)
            นิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน คือ นิติกรรมที่มีสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน คือ มีราคา ถือเอาได้ ว่าจะเป็นสิทธิในทางทรัพย์หรือสิทธิในทางหนี้ก็ตาม
-       นิติกรรมที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เช่น ซื้อขาย ให้
-       นิติกรรมที่ก่อทรัพยสิทธิในทรัพย์ เช่น จำนอง
-       นิติกรรมที่ก่อให้เกิดสิทธิทางหนี้ เช่น การกู้ยืมเงิน การค้ำประกัน การปลดหนี้
นิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน เช่น การหมั้น การสมรส การรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น
            นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้ทำขึ้นจะต้องเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้นที่เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้ทำเป็นนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินแล้ว แม้จะมีผลกระทบต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ตาม เจ้าหนี้จะร้องขอให้เพิกถอนไม่ได้
            2) นิติกรรมที่ทำลงนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
            นิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ คือ นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลง และส่งผลให้กองทรัพย์สินของตนลดน้อยถอยลง ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ คือ ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ถ้าลูกหนี้ทำนิติกรรมนั้นแล้ว แต่คงมีทรัพย์สินพอเหลือชำระหนี้ได้ก็ไม่ถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้เสียเปรียบ
            ข้อสังเกต หลักสำคัญประการหนึ่งของการของให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลก็คือ ผู้มีสิทธิให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉล โดยอ้างว่าตนเองเสียเปรียบนั้น จะต้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ในขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมนั้น เพราะถ้าหากว่ายังมิได้เป็นลูกหนี้เจ้าหนี้กัน จะถือว่าลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมไปทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบไม่ได้
            3) ลูกหนี้ต้องรู้ว่านิติกรรมที่ทำลงนั้นเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
            คือ ลูกหนี้ต้องรู้ว่านิติกรรมที่ตนทำนั้น มีผลเป็นการทำให้กองทรัพย์สินของตนลดน้อยถอยลงถึงขนาดไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ จึงถือว่าลูกหนี้ทุจริต แต่ถ้าลูกหนี้ไม่รู้ก็ไม่ถือว่าลูกหนี้ทำการฉ้อฉล
            4) บุคคลภายนอกที่ได้ลาภงอกจากนิติกรรมต้องรู้ถึงการฉ้อฉล
            ผู้ได้ลาภงอก คือ บุคคลภายนอกที่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากนิติกรรมของลูกหนี้ทราบในขณะที่ทำนิติกรรมว่า การที่ลูกหนี้ทำลงนั้นก็เพื่อจุดประสงค์ให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ลดน้อยถอยลง เพื่อทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ถ้ามารู้ความภายหลังก็ไม่ถือว่าเข้าองค์ประกอบอันอาจจะเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นได้
            ดังนั้น ถ้าบุคคลภายนอกผู้ได้ลาภงอกได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากนิติกรรมของลูกหนี้ โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต แล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง คือ เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนไม่ได้
            แต่ถ้ากรณีที่นิติกรรมนั้นเป็นการที่ลูกหนี้ให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา แก่บุคคลภายนอก ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงความสุจริตของบุคคลภายนอก เพียงแต่เจ้าหนี้พิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้รู้เพียงฝ่ายเดียว คือมีเจตนาทำให้กองทรัพย์สินของตนลดน้อยถอยลงโดยทุจริตแล้ว ก็ย่อมถือเป็นเหตุขอฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หาดังกล่าวนั้นได้ ทั้งนี้เพราะผู้ได้ลาภงอกไม่เสียเปรียบอะไรจากการเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น เนื่องจากการให้โดยเสน่หานั้นไม่มีค่าตอบแทน
อายุความที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลได้ คือ ภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ทำนิติกรรมและทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่เวลานี้ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้น

การโอนสิทธิเรียกร้อง (มาตรา 306)
            การโอนสิทธิเรียกร้อง คือ การที่เจ้าหนี้ตกลงยินยอมโอนสิทธิที่เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง มีผลทำให้บุคคลผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้เดิมและมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เช่นเจ้าหนี้เดิม
เปรียบเทียบการโอนสิทธิเรียกร้องกับการรับช่วงสิทธิ
            การโอนสิทธิเรียกร้อง เกิดจากความตกลงของคู่กรณี ดังนั้นจะโอนให้แก่ผู้ใดก็ได้โดยผู้รับโอนไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในสิทธินั้นอยู่เดิม
            การรับช่วงสิทธิ เกิดจากผลของกฎหมาย จากการที่ผู้มีส่วนได้เสียในหนี้เจ้ามาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ จึงได้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะโดยความยินยอมของเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม
ข้อสังเกต สิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินและเป็นบุคคลสิทธิ ไม่ใช่ทรัพย์สิทธิ ฉะนั้น โดยสิทธิติดตามซึ่งเป็นทรัพย์สิทธิ คือ โอนกรรมสิทธิ์ จึงไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ต้องทำตามแบบมาตรา 306
การโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ หนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
            วิธีการโอนหนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง ต้องแบ่งพิจารณาเป็น 2 ขั้นตอน คือ
            1) วิธีการโอนระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน
            มาตรา 306 วรรคแรก ตอนต้น “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าจะไม่สมบูรณ์...”
            “หนี้อันพึงชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง” คือ หนี้ที่มีตัวเจ้าหนี้แน่นอนอยู่แล้ว ลูกหนี้ทราบว่าใครเป็นเจ้าหนี้ของตน ซึ่งตนจะต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้ใด หนี้ประเภทนี้การโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือ
            “ทำเป็นหนังสือ” คือ ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องทำความตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร (แม้ผู้โอนลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวก็ถือว่าเพียงพอที่จะถือว่ามีการโอนกันเป็นหนังสือแล้ว เพราะการลงชื่อโดยผู้โอนซึ่งเป็นผู้เสียผลประโยชน์ย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือได้แล้ว)
            2) วิธีการโอนที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้
            มาตรา 306 วรรคแรก ตอนท้าย “...อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ”
            การโอนสิทธิเรียกน้องที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อ
-       ลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมการโอนเป็นหนังสือ
-       ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือ
มาตรา 306 มิได้บัญญัติไว้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ที่สามารถบอกกล่าวแก่ลูกหนี้ ดังนั้นจึงตีความได้ว่าทั้งเจ้าหน้าเดิมซึ่งเป็นผู้โอนหรือผู้รับโอนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวก็ได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียในหนี้ก็ไม่สามารถบอกกล่าวได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น